- Home>
Posted by : Unknown
วันพุธที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560
นักจิตวิทยาพัฒนาการ
ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของ
ซิกมันด์ ฟรอยด์ ( Sigmund Freud)
ผู้ที่มีทฤษฎีใกล้เคียงกับพระพุทธศาสนามากอีกคนหนึ่ง (กามะตัณหา: ภาวะตัณหา และ วิภาวะตัณหา)
ฟรอยด์ เกิดวันที่ 6 พฤษภาคม 1856 ในครอบครัวที่มีอาชีพขายขนสัตว์ เมื่ออายุได้ 4 ขวบ ครอบครัวก็ได้ย้ายจากเชโกสโลวะเกียไปอยู่ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย
ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) จิตแพทย์ชาวออสเตรีย เชื้อสายยิว เกิดเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2399 ในจักรวรรดิออสเตรียซึ่งปัจจุบันคือ สาธารณรัฐเช็ก และเสียชีวิตวันที่ 23 กันยายน พ.ศ.2482 รวมอายุ 83 ปี
ครอบครัวมีอาชีพขายขนสัตว์ มีฐานะปานกลางซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) สนใจด้านวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เด็ก เรียนจบจากมหาวิทยาลัยเวียนนาสาขาวิทยาศาสตร์ แล้วเรียนต่อสาขาแพทยศาสตร์ จากนั้นได้ไปศึกษาต่อด้านโรคทางสมองและประสาทที่กรุงปารีสกับหมอผู้เชี่ยวชาญด้านอัมพาต ที่นั่นฟรอยด์ได้ค้นพบว่าความจริงแล้วคนไข้บางรายป่วยเป็นอัมพาตเนื่องจากภาวะทางจิตใจไม่ใช่ร่างกาย
ประวัติของฟรอยด์
ฟรอยด์ชอบอ่านหนังสือตั้งแต่เด็ก จึงทำให้เขาฉลาดและสอบได้ที่ 1 ทุกครั้ง เมื่ออายุได้ 17 ปี เขาสอบเข้าศึกษาต่อวิชาแพทยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยแห่งกรุงเวียนนาได้ หลังจากเรียนจบเขาได้ค้นคว้าต่อทางด้านเซลล์สมอง และได้ไปศึกษาเกี่ยวกับโรคทางสมองและประสาทที่กรุงปารีสกับชาร์โก ซึ่งเป็นหมอรักษาคนไข้ที่เป็นอัมพาตอยู่นั่น ฟรอยด์ได้พบว่าคนไข้บางรายป่วยเป็นอัมพาตเนื่องจากภาวะทางจิตใจไม่ใช่ทางร่างกาย เมื่อกลับมายังกรุงเวียนนา เขาตัดสินใจทำงานเป็นแพทย์ทางด้านสมองและประสาท และแต่งงานกับมาร์ธา เบิร์นเนย์ จนมีลูกด้วยกันถึง 6 คน
ฟรอยด์ได้พบคนไข้ที่เป็นอัมพาตเนื่องจากปัญหาทางจิตใจหลายราย เขาจึงใช้วิธีการรักษาแบบจิตวิเคราะห์ คือให้ผู้ป่วยเล่าถึงความคับข้องใจหรือความหวาดกลัวและพยายามให้ผู้ป่วยเข้าใจเหตุการณ์นั้น เพื่อลดความขัดแย้งในใจ ปรากฎว่ามีผู้ป่วยหลายรายหายจากการอัมพาตเมื่อรักษาด้วยวิธีนี้ ในตอนแรก มีผู้คัดค้านไม่ยอมรับ แต่ฟรอยด์ก็ได้ศึกษาและทดลอง จนผลงานของเขาเป็นที่ยอมรับทั่วไปในปี 1930
อนึ่ง ฟรอยด์เป็นทั้งแพทย์และนักจิตวิทยา เป็นผู้บุกเบิกการศึกษาทางด้านจิตวิทยา ทฤษฎีต่างๆ ของเขาที่ค้นพบยังคงนำมาใช้รักษาโรคทางจิตอยู่ทุกวันนี้ เช่น ทฤษฎีบุคลิกภาพแบบจิตวิเคราะห์ ซึ่งกล่าวว่า พลังจิตใต้สำนึกมีผลต่อพฤติกรรมของแต่ละบุคคล และจำแนกบุคคลให้แตกต่างกัน
ทฤษฎี
ใช้วิธีการรักษาแบบจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis) กับคนไข้ที่เป็นอัมพาต กล่าวคือให้ผู้ป่วยเล่าถึงความคับข้องใจหรือความหวาดกลัวและพยายามให้ผู้ป่วยเข้าใจเหตุการณ์นั้นๆ เพื่อลดความขัดแย้งในใจ ปรากฏว่ามีผู้ป่วยหลายรายหายจากอัมพาตซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) ได้ศึกษาวิเคราะห์จิตใจของมนุษย์ และอธิบายว่า จิตใจทำหน้าที่ควบคุมพฤติกรรมของมนุษย์
ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) แบ่งจิตออกเป็น 3 ระดับดังนี้
1. จิตสำนึกหรือจิตรู้สำนึก (Conscious mind) หมายถึงภาวะจิตที่รู้ตัวอยู่ได้แก่ การแสดพฤติกรรม เพื่อให้ สอดคล้องกับหลักแห่งความเป็นจริง
2. จิตกึ่งสำนึก (Subconscious mind) หมายถึงภาวะจิตที่ระลึกถึงได้ รองศาสตราจารย์ กลมรัตน์ หล้าสุวงษ์ (2528 : 35)ได้กล่าวถึง Subconscious mind ว่าหมายถึงส่วนของจิตใจ ที่มิได้แสดงออกเป็นพฤติกรรม ในขณะนั้น แต่ เป็นส่วนที่รู้ตัว สามารถดึงออกมใช้ได้ทุกเมื่อที่ต้องการ เช่น นางสาว ก. มีน้องสาวคือนางสาว ข. ซึ่งกำลังตกหลุมรัก นาย ค. แต่นางสาว ข. เกรงว่ามารดาจะทราบความจริงจึงบอกพี่สาว มิให้เล่าให้มารดาฟัง นางสาว ก. เก็บเรื่องนี้ไว้เป็น ความลับ มิได้แพร่งพรายให้ผู้ใดทราบโดยเฉพาะมารดาแต่ ในขณะเดียวกันก็ทราบอยู่ตลอดเวลาว่า นางสาว ข. รักนาย ค. ถ้าเขาต้องการเปิดเผย เขาก็จะบอกได้ทันที ลักขณา สิริวัฒน์ (2530 : 9) กล่าวถึง Subconscious mind ว่าผลมันเกิด จากการขัดแย้งกันระหว่าง พฤติกรรมภายใต้อิทธิพลจิตรู้สำนึกกับอิทธิพลของ จิตใต้สำนึกย่อมก่อให้เกิดการหลอกลวงตัวเองขึ้น ภายในบุคคล
3. จิตไร้สำนึกหรือจิตใต้สำนึก (Unconscious mind) หมายถึงภาวะจิตที่ไม่อยู่ในภาวะที่รู้ตัวระลึกถึงไม่ได้ กมลรัตน์ หล้าสุวงษ์ (2524 : 121) กล่าวว่า จิตไร้สำนึกเป็นสิ่งที่ฝังลึกอยู่ภายในจิตใจ มีการเก็บกด (Repression) เอาไว้อาจเป็นเพราะ ถูกบังคับ หรือไม่สามารถแสดงอาการโต้ตอบได้ในขณะนั้นในที่สุดก็จะฝังแน่นเข้าไป จนเจ้าตัวลืมไปชั่ว ขณะจะแสดงออกมาในลักษณะการพลั้งเผลอ เช่น พลั้งปากเอ่ยชื่อ คนรักเก่าต่อหน้า คนรักใหม่ เป็นต้น คณาจารย์ภาควิชาจิตวิทยา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง (2530 : 16) กล่าวว่าสิ่งที่มีอิทธิพล จูงใจพฤติกรรมและการดำเนินชีวิตของคนเรามากที่สุดก็คือ ส่วนที่เป็นจิตใต้สำนึกและสิ่งที่คนเรามัก จะเก็บกดลงไปที่จิตใต้ สำนึก ก็คือความต้องการก้าวร้าว กับความต้องการทางเพศ ซึ่งจะมีแรงผลักดัน
นอกจากนี้ ฟรอยด์ ยังได้ศึกษาถึง โครงสร้างทางจิต พบว่าโครงสร้างทางจิตประกอบด้วย
1. อิด (Id) 2. อีโก้ (Ego) 3. ซุปเปอร์อีโก้ (Superego)
1. อิด (Id) หมายถึงตัณหาหรือความต้องการพื้นฐานของมนุษย์เป็นสิ่งที่ยังไม่ได้ขัดเกลา ซึ่งทำให้ มนุษย์ทำทุก อย่างเพื่อความพึงพอใจของตนเองหรือทำตามหลักของความพอใจ (Pleasure principle)
เปรียบเหมือนสันดานดิบของ มนุษย์ ซึ่งแบ่งออกเป็น สัญชาติญาณ แห่งการมีชีวิต (Life instinct) เช่น ความต้องการอาหาร ความต้องการทางเพศ ความต้องการหลีกหนีจากอันตราย กับสัญชาติญาณแห่ง ความตาย (Death instinct) เช่น ความก้าวร้าว หรือการทำอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น เป็นต้น บุคคล จะแสดงพฤติกรรมตามความพอใจ ของเขาเป็นใหญ่ ไม่คำนึงถึงค่านิยมของสังคม และ ความพอใจของ บุคคลอื่นจึงมักเป็นพฤติกรรมที่ไม่เป็นไปตามครรลองของมาตรฐานในสังคม บุคคลที่มีบุคลิกภาพเช่นนี้ มักได้รับการประณามว่ามีบุคลิกภาพไม่ดี หรือไม่เหมาะสม
2. อีโก้ (Ego) หมายถึง ส่วนที่ควบคุมพฤติกรรมที่เกิดจากความต้องการของ Id โดยอาศัยกฎเกณฑ์ ทางสังคม และหลักแห่งความจริง (Reality principle) มาช่วยในการตัดสินใจ ไม่ใช่แสดงออกตามความ พอใจของตนแต่เพียงอย่างเดียว แต่ต้องคิดแสดงออกอย่างมีเหตุผลด้วยนั่นคือบุคคลจะแสดงพฤติกรรม โดยมีเหตุและผล ที่เหมาะสมกับกาลเทศะใน สังคม จึงเป็นบุคลิกภาพที่ได้รับการยอมรับมากในสังคม ในคนปรกติที่สามารถปรับตัวอยู่ได้ในสังคมอย่างมีความสุข ฟรอยด์ เชื่อว่าเป็นเพราะมีโครงสร้าง ส่วนนี้แข็งแรง
3. ซุปเปอร์อีโก้ (Superego) หมายถึง มโนธรรมหรือจิตส่วนที่ได้รับการพัฒนาจากประสบการณ์ การอบรมสั่งสอน โดยอาศัยหลักของศีลธรรมจรรยา ขนบธรรมเนียมประเพณี และค่านิยมต่าง ๆ ใน สังคมนั้น Superego จะเป็นตัวบังคับ และควบคุมความคิดให้แสดงออกในลักษณะที่เป็นสมาชิกที่ดีของ สังคม โดยยึดหลักค่านิยมของสังคม (Value principle) ที่ตัดสินว่าสิ่งใดเป็นสิ่งที่ดีในสังคมกล่าวคือบุคคล จะแสดงพฤติกรรมตาม ขอบเขตที่สังคมวางไว้ แต่บางครั้งอาจไม่เหมาะ สม เช่น เมื่อถูกยุงกัดเต็มแขน - ขา ก็ไม่ยอมตบยุง เพราะกลัวบาป หรือสงสารคนขอทานให้เงินเขาไปจนหมด ในขณะที่ ตนเองหิวข้าวไม่มีเงินจะ ซื้ออาหารกินก็ยอมทนหิว เป็นต้น
ทฤษฎีพัฒนาการของ
อิริคสัน (Erikson)
ประวัติของอิริคสัน
อิริคสัน ค.ศ.1902 เป็นนักจิตวิเคราะห์ที่มีชื่อของอเมริกา และจัดอยู่ในกลุ่มฟรอยด์รุ่นใหม่ เกิดที่เมืองแฟรงเฟิต ประเทศเยอรมัน ต่อมาได้ย้ายไปอยู่ประเทศอเมริกาในปี ค.ศ. 1933 และเป็นผู้วิเคราะห์เกี่ยวกับเด็กเป็นคนแรกในนครบอสตัน เห็นว่าการจะทำความเข้าใจพฤติกรรมเด็กจะต้องศึกษาจากการอบรมเลี้ยงดู สภาพสังคม และความเป็นอยู่ของเด็ก ปัญหาที่นำมาวิเคราะห์นั้นจะอธิบายเชื่อมโยงระหว่างจิตวิทยากับสังคมวิทยาในรูปแบบของมนุยวิทยา ซึ่งมีแนวความคิดว่ามนุษย์ต้องพึ่งสังคมและสังคมก็ต้องพึ่งมนุษย์ มนุษย์มีวิวัฒนาการที่สลับซับซ้อนและผ่านขั้นตอนต่างๆของธรรมชาติหลายขั้นตอน
อีริคสัน เป็นลูกศิษย์ของฟรอยด์ได้สร้างทฤษฎีนี้ขึ้นในแนวทางความคิดของฟรอยด์ แต่ได้ดำเนินความสำคัญทางด้านสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ด้านจิตใจ ว่ามีบทบาทในการพัฒนาบุคลิกภาพ ความคิดของอีริคสันต่างกับฟรอยด์หลายประการ เช่น เห็นความสำคัญของ Ego มากกว่า Id และถือว่าพัฒนาการของคนไม่ได้จบแค่วัยรุ่น แต่ ต่อไปจนกระทั่งวาระสุดท้ายของชีวิต คือ วัยชรา และตอนที่ยังมีชีวิตอยู่ บุคลิกภาพของคนก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ
พัฒนาการทางบุคลิกภาพ 8 ขั้นตอนของอิริคสัน
1. ความไว้วางใจกับความไม่ไว้วางใจ (Trust VS. Mistrust) (ในช่วง0 -1 ปี)
ถ้าเด็กได้รับความรักใคร่ที่เหมาะสม ทำให้เขารู้สึกว่าโลกนี้ปลอดภัยน่าอยู่และไว้วางใจได้ แต่ถ้าตรงกับข้ามเด็กก็จะรู้สึกว่าโลกนี้เต็มไปด้วยอันตรายไม่มีความปลอดภัย มีแต่ความหวาดระแวง
2. ความเป็นตัวของตัวเองกับความคลางแคลงใจ (Autonomy VS. Doubt)(ในช่วง2 – 3 ปี)
เด็กในวัยนี้จะเริ่มพัฒนาความเป็นตัวของตัวเอง รู้สึกว่าตนเองมีความสำคัญและอยากเอาชนะสิ่งแวดล้อมหรืออำนาจที่มีอยู่ พ่อแม่จึงควรระวังในเรื่องความสมดุลในการเลี้ยงดู ควรให้โอกาสและกำลังใจต่อเด็ก เด็กจะพัฒนาความเป็นตัวเอง มีความมั่นใจ รู้จักอิสระที่จะควบคุมตนเอง แต่ถ้าพ่อแม่ไม่ให้โอกาสหรือทำแทนเด็กทุกอย่าง เด็กจะเกิดความคลางแคลงใจในความสามารถของตนเอง
3. ความริเริ่มกับความรู้สึกผิด (Initiative VS. Guilt) (ในช่วง4 – 5 ปี)
การมีส่วนร่วมในกิจกรรมตลอดถึงการใช้ภาษาจะช่วยให้เด็กเกิดแง่คิดในการวางแผนและการริเริ่มทำกิจกรรมต่างๆ ก็จะเป็นการส่งเสริมทำให้เขารู้สึกต้องการที่จะศึกษาค้นคว้าต่อไปเด็กก็จะมีความคิดริเริ่ม แต่ในทางตรงกันข้ามถ้าผู้ใหญ่คอยเข้มงวด ไม่เปิดโอกาสให้เด็ก ตำหนิอยู่ตลอดเวลา เขาก็จะรู้สึกผิดเมื่อคิดจะทำสิ่งใดๆ นอกจากนี้เขาก็จะเริ่มเรียนรู้บทบาททางเพศมาตรฐานทางศีลธรรมและการควบคุมอารมณ์
4. ความขยันหมั่นเพียรกับความรู้สึกต่ำต้อย (Industry VS. Inferiority) (ในช่วง6 – 12 ปี)
เด็กในวัยนี้จะเริ่มเข้าเรียนและต้องการเป็นที่ยอมรับของผู้อื่น มีพัฒนาการทางด้านความขยันขันแข็ง โดยพยายามคิดทำ คิดผลิตสิ่งต่างๆ ให้เหมือนผู้ใหญ่ด้วยการทุ่มเททั้งกำลังกายและกำลังใจ ถ้าเขาได้รับคำชมเชยก็จะเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดกำลังใจ มีความมานะพยายามมากขึ้น แต่ถ้าตรงกันข้ามเด็กไม่ได้รับความสนใจหรือผู้ใหญ่แสดงออกมาให้เขาเห็นว่าเป็นการกระทำที่น่ารำคาญเขาก็จะรู้สึกต่ำต้อย
5. ความเป็นเอกลักลักษณ์กับความสับสนในบทบาท (Identity VS. Role Confusion) (ในช่วง12 – 17 ปี)
เป็นช่วงที่เด็กย่างเข้าสู่วัยรุ่น และเริ่มพัฒนาเอกลักษณ์ของตนเองว่าตนคือใคร ถ้าเขาค้นหาตนเองได้ เขาจะแสดงบทบาทของตนเองได้อย่างเหมาะสม แต่ถ้าตรงกันข้ามเขาค้นหาเอกลักษณ์ของตนไม่พบเขาจะเกิดความสับสนและแสดงบทบาทที่ไม่เหมาะสมหรือไม่สอดคล้องกับตนเอง
6. ความผูกพันกับการแยกตัว (Intimacy VS. Isolation) (ในช่วง18- 34 ปี)
เป็นขั้นของการพัฒนาทางด้านความรัก ความผูกพัน เมื่อบุคคลสามารถค้นพบเอกลักษณ์ของตนเองได้แล้ว ก็เกิดความรู้สึกต้องการมีเพื่อนสนิทที่รู้ใจ สามารถปรับทุกข์ซึ่งกันและกันได้ ตลอดถึงแสดงความยินดี และเสียสละให้แก่กัน แต่ถ้าพัฒนาการในช่วงนี้ล้มเหลวไม่สามารถสร้างความรู้สึกเช่นนี้ได้ เขาก็จะขาดเพื่อนสนิท หรือเกิดความรู้สึกต้องการจะชิงดีชิงเด่น ชอบทะเลาะกับผู้อื่น รู้สึกว้าเหว่เหมือนถูกทอดทิ้ง ซึ่งจะนำไปสู่การแยกตัวเอง และดำเนินชีวิตอย่างโดดเดี่ยว
7. การทำประโยชน์ให้สังคมกับการคิดถึงแต่ตนเอง (Generativity VS. Self Absorption) (ในช่วง35 – 60 ปี)
เป็นช่วงของวัยกลางคน ซึ่งมีความพร้อมที่จะสร้างประโยชน์ให้สังคมได้เต็มที่ ถ้าพัฒนาการแต่ละขั้นตอนที่ผ่านมาดำเนินไปด้วยดี มีการดูแลรับผิดชอบเอาใจใส่ต่อบุตรหลานให้มีความสุข มีการอบรมสั่งสอนบุตรหลานให้เป็นคนดีต่อไปในอนาคต แต่ถ้าตรงกันข้ามก็จะไม่ประสบความสำเร็จ เขาจะเกิดความรู้สึกท้อถอย เบื่อหน่ายชีวิต คิดถึงแต่ตนเองไม่รับผิดชอบต่อสังคม
8. บูรณาการกับความสิ้นหวัง (Integrity VS. Despair) (ในช่วง60 ปีขึ้นไป)
เป็นช่วงของวัยชราซึ่งเป็นวัยสุดท้าย ถ้าบุคคลผ่านขั้นตอนต่าง ๆ มาด้วยดี ก็จะมองอดีตเต็มไปด้วยความสำเร็จ มีปรัชญาชีวิตตนเอง ภูมิใจในการถ่ายทอดประสบการณ์ต่างให้แก่ลูกหลาน แต่ถ้าตรงกันข้ามกันชีวิตมีแต่ความล้มเหลว ก็จะเกิดความรู้สึกสิ้นหวังในชีวิต เสียดายเวลาที่ผ่านมาไม่พอกับชีวิตในอดีตไม่ยอมรับสภาพตนเอง เกิดความคับข้องใจต่อสภาพความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ขาดความสงบสุขในชีวิต
พลังอีโก้ (Ego strength)
แอริคสัน กล่าวว่า Ego เป็นคุณสมบัติที่พึงมีพึงเป็น เมื่อบุคคลสามารถแก้ไขปัญหาวิกฤติ ทางด้านจิตวิทยาสังคมในแต่ละขั้นตอนของชีวิตทั้ง 8 ขั้นตอนได้ด้วยดี ดังนั้นอีโก้ของแอริคสันได้แก่
-ความมีกำลังวังชา การมีความหวัง
- การรู้จักควบคุมตนเอง
- การมีความตั้งมั่น
- ทางการมีความตั้งมั่น และเห็นความหมายของภารกิจที่ตนกำลังทำอยู่
- การรู้จักวิธีจัดการ
- การมีสมรรถภาพ
- การมีความบริสุทธิ์ใจ
การมีการมีความบริสุทธิ์ใจ
- ความจงรักภักดีต่อคุณค่า
- การรู้จักสร้างไมตรีกับผู้อื่น
- การรู้จักรักและสนิทสนมกับผู้อื่น
- การมีผลงานสร้างสรรค์
- การให้ความอนุเคราะห์อาทรบุคคลอื่น
- การรู้จักปล่อยวางและความฉลาดรู้เท่าทันโลกเท่าทันชีวิต
สรุป ทฤษฎีของอีริคสัน เป็นทฤษฎีที่อธิบายพัฒนาการของชีวิตตั้งแต่งวัยทารกจนถึงวัยชรา อีริคสันเชื่อว่า วัยแรกของชีวิตเป็นวัยที่เป็นรากฐานเบื้องต้น และวัยต่อ ๆ มาก็สร้างจากรากฐานนี้ ถ้าหากในวัยทารกเด็กได้รับการดูแลอย่างดีและอบอุ่น ก็จะช่วยให้เด็กมีความเชื่อถือในผู้ อื่นที่อยู่การแสดงบทบาทสมมติ อีริค อิริคสัน
ทฤษฎีพัฒนาการตามวัยของ
โรเบิร์ต เจ. ฮาวิกเฮิร์ส (Robert havighurst)
ศาสตราจารย์โรเบิร์ต ฮาวิกเฮิร์ส (Robert havighurst 1953-1972) ได้ให้ชื่อว่างานที่มนุษย์ทุกคนจะต้องทำตามวัยว่า “ งานพัฒนาการ ” หมายถึง งานที่ทุกคนจะต้องทำในแต่ละวัยของชีวิต สัมฤทธิ์ผลของงานพัฒนาการของงานแต่ละวัย มีความสำคัญมากเพราะเป็นของการเรียนรู้งานพัฒนาขั้นต่อไป
ในการสร้างทฤษฎีงานพัฒนาการ ฮาวิกเฮิร์ส ถือว่าการพัฒนาการของมนุษย์ไม่ได้ขึ้นกับปัจจัยทางสรีระหรือชีวะแต่เพียงอย่างเดียว สังคมและวัฒนธรรม และปัจจัยทางจิตวิทยาของแต่ละบุคคลมีอิทธิพลในการพัฒนาการของบุคคลด้วย
ดังนั้น ฮาวิกเฮิร์ส ได้สรุปว่า ตัวแปรที่สำคัญในการพัฒนามี 3 อย่าง
1. วุฒิภาวะทางร่างกาย
2. ความมุ่งหวังของสังคมและกลุ่มที่แต่ละบุคคลเป็นสมาชิกอยู่
3. ค่านิยม แรงจูงใจ ความมุ่งหวังส่วนตัวและความทะเยอทะยานของแต่ละบุคคล
3.1 ความพร้อมเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ (Natural Readiness Approach)
กลุ่มนี้นี้ความเห็นว่า ความพร้อมของบุคคลเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเมื่อถึงวัยหรือเมื่อถึงระยะเวลาที่เหมาะสมที่จะทำกิจกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดได้ดังนั้นในกลุ่มนี้จึงเห็นว่าการทำอะไรก็ตามไม่ควรจะเป็น “การเร่ง” เพราะการเร่งจะไม่ทำให้เกิดประโยชน์ใดๆทั้งสิ้น ตรงกันข้ามอาจจะทำให้เกิดผลเสียตามมาคือ ความท้อถอย และความเบื่อหน่าย เป็นต้น
3.2 ความพร้อมเกิดจากการกระตุ้น (Guided Experience Approach)
กลุ่มนี้มีความเห็นตรงข้ามกับกลุ่มแรก คือ เห็นว่า ความพร้อมนั้นสามารถเร่งให้เกิดขึ้นได้ โดยการกระตุ้น การแนะนำ การจัดประสบการณ์อันจะก่อให้เกิดเป็นความพร้อมได้โดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงวัยเด็ก ซึ่งจะเป็นวัยที่มีช่วงวิกฤติ (Critical Period)ของการเรียนรู้และการปรับตัวเป็นอย่างมาก
4. สิ่งแวดล้อม ได้แก่ สิ่งที่อยู่รอบตัวบุคคลนั้นๆ ทั้งสิ่งมีชีวิตและสิ่งที่ไม่มีชีวิต นอกจากนั้นสิ่งแวดล้อมยังหมายรวมถึงระบบและโครงสร้างต่างๆ ที่มนุษย์ได้สร้างขึ้น เช่น ระบบครอบครัว ระบบสังคม ระบบวัฒนธรรม เป็นต้น
การแบ่งพัฒนาการของมนุษย์
พัฒนาการของมนุษย์ แบ่งออกเป็น 4 ด้านใหญ่ๆ คือ
1. พัฒนาการทางกาย เป็นการแบ่งพัฒนาการของมนุษย์ตามขั้นตอนใน แต่ละวัน
2. พัฒนาการทางด้านความคิดหรือสติปัญญา (Cognitive Development) ของเพียเจท์
3. พัฒนาการทางด้านจิตใจ ซึ่งแบ่งย่อยเป็น
3.1 พัฒนาการทางด้านจิตใจ-เพศ (Psychosexual Development) ของฟรอยด์ (Freud)
3.2 พัฒนาการทางด้านจิตใจ-สังคม (Psychosocial Development) ของอีริคสัน (Erikson)
4. พัฒนาการด้านจริยธรรม (Moral Development) ของโคลเบริ์ก (Kohlberg)
พัฒนาการตามวัย
ตามแนวความคิดของฮาวิคเฮอร์ท (Hovighurst) ได้แบ่งพัฒนาการของมนุษย์ออกเป็นวัยต่างๆได้ดังนี้
1. วัยเด็กเล็ก-วัยเด็กตอนต้น (แรกเกิด- 6 ปี) ในวัยนี้จะมีงานที่สำคัญ ดังนี้
- การเรียนรู้ทางด้านร่างกาย เช่น การยกศีรษะ คลาน การทรงตัว การเดิน
- การเรียนรู้ทางด้านการรับประทานอาหาร
- การเรียนรู้ทางด้านการเปล่งเสียง การพูด
- การเรียนรู้ในเรื่องการควบคุมการขับถ่าย
- เริ่มมีความคิดรวบยอดง่ายๆ เกี่ยวกับความจริงทางสังคม และทางกายภาพ
- เริ่มรู้จักแยกความแตกต่างระหว่างสิ่งที่ผิด-ถูก และเริ่มพัฒนาทางจริยธรรม
2. วัยเด็กตอนกลาง (6-18 ปี) ในวัยนี้จะมีงานที่สำคัญ ดังนี้
- พัฒนาทักษะทางด้านกายภาพ
- เรียนรู้ที่จะแสดงบทบาทให้เหมาะสมกับเพศของตนเอง
- พัฒนาในเรื่องการปรับตัวเข้ากับเพื่อนรุ่นเดียวกัน
- พัฒนาเกี่ยวกับเรื่องศีลธรรม ค่านิยม เพื่อเตรียมพร้อมที่จะอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
3. วัยรุ่น (12-18 ปี) พัฒนาการที่สำคัญของบุคคลในวัยนี้ คือ
- พัฒนาความคิดรวบยอดและทักษะในการแก้ปัญหา
- สามารถสร้างความสัมพันธ์อันดีและเหมาะสมกับเพื่อนรุ่นเดียวกัน ทั้งเพศเดียวกัน และต่างเพศได้
- พยายามปรับตัวเองให้เข้ากับการเปลี่ยนทั้งทางด้านร่างกายและอารมณ์
4. วัยผู้ใหญ่ตอนต้น (18-35 ปี) ในวัยนี้จะมีลักษณะที่สำคัญ ดังนี้
- เริ่มต้นประกอบอาชีพ
- เริ่มสร้างครอบครัวของตนเอง
- เรียนรู้ที่จะมีชีวิตร่วมกับคู่แต่งงาน
5. วัยกลางคน (35-60 ปี) งานที่สำคัญในวัยนี้ คือ
- มีความรับผิดชอบต่อสังคม
- มีความพยายามในการสร้างฐานะทางเศรษฐกิจ เพื่อความเป็นปึกแผ่นของครอบครัว
- รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ได้มากขึ้น
- สามารถปรับตัวและทำความเข้าใจคู่ชีวิตของตนเองให้ได้
6. วัยชรา (อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป) งานที่สำคัญในวัยนี้ คือ
- สามารถปรับตัวกับสภาพร่างกายที่เสื่อมถอยลง
- สามารถปรับตัวได้กับการเกษียณอายุการทำงาน
- สามารถปรับตัวได้กับการตายจากของคู่ครอ
พัฒนาการทางจริยธรรมของ
ลอเรนส์ โคลเบิร์ก (Lawrence Kohlberg)
โคลเบิร์ก (Lawrence Kohlberg)ได้ศึกษาวิจัยพัฒนาการทางจริยธรรมตามแนวทฤษฎีของพีอาเจต์ แต่โคลเบิรก์ได้ปรับปรุงวิธีวิจัย การวิเคราะห์ผลรวมและได้วิจัยอย่างกว้างขวางในประเทศอื่นที่มีวัฒนธรรมต่างไป วิธีการวิจัย จะสร้างสถานการณ์สมมติปัญหาทางจริยธรรมที่ผู้ตอบยากที่จะตัดสินใจได้ว่า“ถูก” “ผิด” “ควรทำ” “ไม่ควรทำ” อย่างเด็ดขาด เพราะขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายอย่าง การตอบจะขึ้นกับวัยของผู้ตอบเกี่ยวกับความเห็นใจในบทบาทของผู้แสดงพฤติกรรมในเรื่องค่านิยม ความสำนึกในหน้าที่ในฐานะเป็นสมาชิกของสังคม ความยุติธรรมหรือหลักการที่ตนยึดถือ
โคลเบิร์ก ให้คำจำกัดความของจริยธรรมว่า จริยธรรมเป็นความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับความถูกผิด และเกิดขึ้นจากขบวนการทางความคิดอย่างมีเหตุผล ซึ่งต้องอาศัยวุฒิภาวะทางปัญญา
โคลเบิร์ก เชื่อว่าพัฒนาการทางจริยธรรมเป็นผลจากการพัฒนาการของโครงสร้างทางความคิดความเข้าใจเกี่ยวกับจริยธรรม นอกจากนั้น โคลเบิร์ก ยังพบว่า ส่วนมากการพัฒนาทางจริยธรรมของเด็กจะไม่ถึงขั้นสูงสุดในอายุ 10 ปี แต่จะมีการพัฒนาขึ้นอีกหลายขั้นจากอายุ 11-25 ปี การใช้เหตุผลเพื่อการตัดสินใจที่จะเลือกกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง จะแสดงให้เห็นถึงความเจริญของจิตใจของบุคคล การใช้เหตุผลเชิงจริยธรรม ไม่ได้ขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ของสังคมใดสังคมหนึ่งโดยเฉพาะ แต่เป็นการใช้เหตุผลที่ลึกซึ้งยากแก่การเข้าใจยิ่งขึ้นตามลำดับของวุฒิภาวะทางปัญญา
โคลเบิร์ก ได้ศึกษาการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมของเยาวชนอเมริกัน อายุ 10-16 ปี และได้แบ่งพัฒนาการทางจริยธรรมออกเป็น 3 ระดับ(Levels)แต่ละระดับแบ่งออกเป็น 2 ขั้น (Stages)
ดังนั้น พัฒนาการทางจริยธรรมของโคลเบิร์กมีทั้งหมด 6 ขั้น คำอธิบายของระดับและขั้นต่างๆ ของพัฒนาการทางจริยธรรมของโคลเบิร์ก มีดังต่อไปนี้
ระดับที่ 1 ระดับก่อนมีจริยธรรมหรือระดับก่อนกฎเกณฑ์สังคม(Pre -Conventional Level)ระดับนี้เด็กจะรับกฎเกณฑ์และข้อกำหนดของพฤติกรรมที่“ดี” “ไม่ดี”จากผู้มีอำนาจเหนือตน เช่น บิดามารดา ครูหรือเด็กโต และมักจะคิดถึงผลตามที่จะนำรางวัลหรือการลงโทษ
พฤติกรรม “ดี” คือ พฤติกรรมที่แสดงแล้วได้รางวัล
พฤติกรรม “ไม่ดี” คือ พฤติกรรมที่แสดงแล้วได้รับโทษ โดยบุคคลจะตอบสนองต่อกฎเกณฑ์ซึ่งผู้มีอำนาจทางกายเหนือตนเองกำหนดขึ้น จะตัดสินใจเลือกแสดงพฤติกรรมที่เป็นหลักต่อตนเอง โดยไม่คำนึงถึงผู้อื่น จะพบในเด็ก 2-10 ปี โคลเบิร์กแบ่งพัฒนาการทางจริยธรรม ระดับนี้เป็น 2 ขั้น คือ
- ขั้นที่ 1 การถูกลงโทษและการเชื่อฟัง(Punishment and Obedience Orientation) เด็กจะยอมทำตามคำสั่งผู้มีอำนาจเหนือตนโดยไม่มีเงื่อนไขเพื่อไม่ให้ตนถูกลงโทษ ขั้นนี้แสดงพฤติกรรมเพื่อหลบหลีกการถูกลงโทษ เพราะกลัวความเจ็บปวด ยอมทำตามผู้ใหญ่เพราะมีอำนาจทางกายเหนือตน
โคลเบิร์ก อธิบายว่า ในขั้นนี้เด็กจะใช้ผลตามของพฤติกรรมเป็นเครื่องชี้ว่า พฤติกรรมของตน“ถูก” หรือ “ผิด”เป็นต้นว่า ถ้าเด็กถูกทำโทษก็จะคิดว่าสิ่งที่ตนทำ “ผิด” และจะพยายามหลีกเลี่ยงไม่ทำสิ่งนั้นอีก พฤติกรรมใดที่มีผลตามด้วยรางวัลหรือคำชม เด็กก็จะคิดว่าสิ่งที่ตนทำ “ถูก” และจะทำซ้ำอีกเพื่อหวังรางวัล
- ขั้นที่ 2 กฎเกณฑ์เป็นเครื่องมือเพื่อประโยชน์ของตน (Instrumental Relativist Orientation)ใช้หลักการแสวงหารางวัลและการแลกเปลี่ยน บุคคลจะเลือกทำตามความพอใจตนของตนเอง โดยให้ความสำคัญของการได้รับรางวัลตอบแทน ทั้งรางวัลที่เป็นวัตถุหรือการตอบแทนทางกาย วาจา และใจ โดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องของสังคม ขั้นนี้แสดงพฤติกรรมเพื่อต้องการผลประโยชน์สิ่งตอบแทน รางวัล และสิ่งแลกเปลี่ยน เป็นสิ่งตอบแทน
** โคลเบิร์ก อธิบายว่า ในขั้นนี้เด็กจะสนใจทำตามกฎข้อบังคับ เพื่อประโยชน์หรือความพอใจของตนเอง หรือทำดีเพราอยากได้ของตอบแทน หรือรางวัล ไม่ได้คิดถึงความยุติธรรมและความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น หรือความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อผู้อื่น พฤติกรรมของเด็กในขั้นนี้ทำเพื่อสนองความต้องการของตนเอง แต่มักจะเป็นการแลกเปลี่ยนกับคนอื่น เช่น ประโยค “ถ้าเธอทำให้ฉัน ฉันจะให้.......”
ระดับที่ 2 ระดับจริยธรรมตามกฎเกณฑ์สังคม(Conventional Level) พัฒนาการจริยธรรมระดับนี้ ผู้ทำถือว่าการประพฤติตนตามความคาดหวังของผู้ปกครอง บิดามารดา กลุ่มที่ตนเป็นสมาชิกหรือของชาติ เป็นสิ่งที่ควรจะทำหรือทำความผิด เพราะกลัวว่าตนจะไม่เป็นที่ยอมรับของผู้อื่น ผู้แสดงพฤติกรรมจะไม่คำนึงถึงผลตามที่จะเกิดขึ้นแก่ตนเอง ถือว่าความซื่อสัตย์ ความจงรักภักดีเป็นสิ่งสำคัญ ทุกคนมีหน้าที่จะรักษามาตรฐานทางจริยธรรม
โดยบุคคลจะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของสังคมที่ตนเองอยู่ ตามความคาดหวังของครอบครัวและสังคม โดยไม่คำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นขณะนั้นหรือภายหลังก็ตาม จะปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของสังคมโดยคำนึงถึงจิตใจของผู้อื่น จะพบในวัยรุ่นอายุ 10 -16 ปี โคลเบิร์กแบ่งพัฒนาการทางจริยธรรม ระดับนี้เป็น 2 ขั้น คือ
- ขั้นที่ 3 ความคาดหวังและการยอมรับในสังคม สำหรับ “เด็กดี”(Interpersonal Concordance of “Good boy , nice girl” Orientation)บุคคลจะใช้หลักทำตามที่ผู้อื่นเห็นชอบ ใช้เหตุผลเลือกทำในสิ่งที่กลุ่มยอมรับโดยเฉพาะเพื่อน เพื่อเป็นที่ชื่นชอบและยอมรับของเพื่อน ไม่เป็นตัวของตัวเอง คล้อยตามการชักจูงของผู้อื่น เพื่อต้องการรักษาสัมพันธภาพที่ดี พบในวัยรุ่นอายุ 10 -15 ปี ขั้นนี้แสดงพฤติกรรมเพื่อต้องการเป็นที่ยอมรับของหมู่คณะ การช่วยเหลือผู้อื่นเพื่อทำให้เขาพอใจ และยกย่องชมเชย ทำให้บุคคลไม่มีความเป็นตัวของตัวเอง ชอบคล้อยตามการชักจูงของผู้อื่น โดยเฉพาะกลุ่มเพื่อน
** โคลเบิร์ก อธิบายว่า พัฒนาการทางจริยธรรมขั้นนี้เป็นพฤติกรรมของ “คนดี”ตามมาตรฐานหรือความคาดหวังของบิดา มารดาหรือเพื่อนวัยเดียวกัน พฤติกรรม “ดี” หมายถึง พฤติกรรมที่จะทำให้ผู้อื่นชอบและยอมรับ หรือไม่ประพฤติผิดเพราะเกรงว่าพ่อแม่จะเสียใจ
- ขั้นที่ 4 กฎและระเบียบ (“Law-and-order”Orientation)จะใช้หลักทำตามหน้าที่ของสังคม โดยปฏิบัติตามระเบียบของสังคมอย่างเคร่งครัด เรียนรู้การเป็นหน่วยหนึ่งของสังคม ปฏิบัติตามหน้าที่ของสังคมเพื่อดำรงไว้ซึ่งกฎเกณฑ์ในสังคม พบในอายุ 13-16 ปี ขั้นนี้แสดงพฤติกรรมเพื่อทำตามหน้าที่ของสังคม โดยบุคคลรู้ถึงบทบาทและหน้าที่ของเขาในฐานะเป็นหน่วยหนึ่งของสังคมนั้น จึงมีหน้าที่ทำตามกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่สังคมกำหนดให้ หรือคาดหมายไว้
** โคลเบิร์ก อธิบายว่า เหตุผลทางจริยธรรมในขั้นนี้ ถือว่าสังคมจะอยู่ด้วยความมีระเบียบเรียบร้อยต้องมีกฎหมายและข้อบังคับ คนดีหรือคนที่มีพฤติกรรมถูกต้องคือ คนที่ปฏิบัติตามระเบียบบังคับหรือกฎหมาย ทุกคนควรเคารพกฎหมาย เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและความเป็นระเบียบของสังคม
ระดับที่ 3 ระดับจริยธรรมตามหลักการด้วยวิจารณญาณ หรือระดับเหนือกฎเกณฑ์สังคม (Post -Conventional Level) พัฒนาการทางจริยธรรมระดับนี้ เป็นหลักจริยธรรมของผู้มีอายุ 20ปี ขึ้นไป ผู้ทำหรือผู้แสดงพฤติกรรมได้พยายามที่จะตีความหมายของหลักการและมาตรฐานทางจริยธรรมด้วยวิจารณญาณ ก่อนที่จะยึดถือเป็นหลักของความประพฤติที่จะปฏิบัติตาม การตัดสินใจ “ถูก” “ผิด” “ไม่ควร” มาจากวิจารณญาณของตนเอง ปราศจากอิทธิพลของผู้มีอำนาจหรือกลุ่มที่ตนเป็นสมาชิก กฎเกณฑ์– กฎหมาย ควรจะตั้งบนหลักความยุติธรรม และเป็นที่ยอมรับของสมาชิกของสังคมที่ตนเป็นสมาชิก ทำให้บุคคลตัดสินข้อขัดแย้งของตนเองโดยใช้ความคิดไตร่ตรองอาศัยค่านิยมที่ตนเชื่อและยึดถือเป็นเครื่องช่วยในการตัดสินใจ จะปฏิบัติตามสิ่งที่สำคัญมากกว่าโดยมีกฎเกณฑ์ของตนเอง ซึ่งพัฒนามาจากกฎเกณฑ์ของสังคม เป็นจริยธรรมที่เป็นที่ยอมรับทั่วไป โคลเบิร์กแบ่งพัฒนาการทางจริยธรรม ระดับนี้เป็น 2 ขั้น คือ
- ขั้นที่ 5 สัญญาสังคมหรือหลักการทำตามคำมั่นสัญญา (Social Contract Orientation) บุคคลจะมีเหตุผลในการเลือกกระทำโดยคำนึงถึงประโยชน์ของคนหมู่มาก ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น สามารถควบคุมตนเองได้ เคารพการตัดสินใจที่จะกระทำด้วยตนเอง ไม่ถูกควบคุมจากบุคคลอื่น มีพฤติกรรมที่ถูกต้องตามค่านิยมของตนและมาตรฐานของสังคม ถือว่ากฎเกณฑ์ต่างๆเปลี่ยนแปลงได้ โดยพิจารณาประโยชน์ของส่วนรวมเป็นหลัก พบได้ในวัยรุ่นตอนปลายและวัยผู้ใหญ่ ขั้นนี้แสดงพฤติกรรมเพื่อทำตามมาตรฐานของสังคม เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน โดยบุคคลเห็นความสำคัญของคนหมู่มากจึงไม่ทำตนให้ขัดต่อสิทธิอันพึงมีได้ของผู้อื่น สามารถควบคุมบังคับใจตนเองได้ พฤติกรรมที่ถูกต้องจะต้องเป็นไปตามค่านิยมส่วนตัว ผสมผสานกับมาตรฐานซึ่งได้รับการตรวจสอบและยอมรับจากสังคม
** โคลเบิร์ก อธิบายว่า ขั้นนี้เน้นถึงความสำคัญของมาตรฐานทางจริยธรรมที่ทุกคนหรือคนส่วนใหญ่ในสังคมยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ถูกสมควรที่จะปฏิบัติตาม โดยพิจารณาถึงประโยชน์และสิทธิของบุคคลก่อนที่จะใช้เป็นมาตรฐานทางจริยธรรม ได้ใช้ความคิดและเหตุผลเปรียบเทียบว่าสิ่งไหนผิดและสิ่งไหนถูก ในขั้นนี้การ “ถูก”และ “ผิด”ขึ้นอยู่กับค่านิยมและความคิดเห็นของบุคคลแต่ละบุคคล แม้ว่าจะเห็นความสำคัญของสัญญาหรือข้อตกลงระหว่างบุคคล แต่เปิดให้มีการแก้ไข โดยคำนึงถึงประโยชน์และสถานการณ์แวดล้อมในขณะนั้น
- ขั้นที่ 6 หลักการคุณธรรมสากล (Universal Ethical Principle Orientation)เป็นขั้นที่เลือกตัดสินใจที่จะกระทำโดยยอมรับความคิดที่เป็นสากลของผู้เจริญแล้ว ขั้นนี้แสดงพฤติกรรมเพื่อทำตามหลักการคุณธรรมสากล โดยคำนึงความถูกต้องยุติธรรมยอมรับในคุณค่าของความเป็นมนุษย์ มีอุดมคติและคุณธรรมประจำใจ มีความยืดหยุ่นและยึดหลักจริยธรรมของตนอย่างมีสติ ด้วยความยุติธรรม และคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน เคารพในความเป็นมนุษย์ของแต่ละบุคคล ละอายและเกรงกลัวต่อบาป พบในวัยผู้ใหญ่ที่มีความเจริญทางสติปัญญา
** โคลเบิร์ก อธิบายว่า ขั้นนี้เป็นหลักการมาตรฐานจริยธรรมสากล เป็นหลักการเพื่อมนุษยธรรม เพื่อความเสมอภาคในสิทธิมนุษยชนและเพื่อความยุติธรรมของมนุษย์ทุกคน ในขั้นนี้สิ่งที่ “ถูก”และ “ผิด” เป็นสิ่งที่ขึ้นมโนธรรมของแต่ละบุคคลที่เลือกยึดถือ
ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของ
ฌอง เพียเจต์ (Jean Piaget)
เพียเจท์เชื่อว่าโดยธรรมชาติแล้วมนุษย์ทุกคนมีความพร้อมที่จะมีปฏิสัมพันธ์และปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เกิด เพราะมนุษย์ทุกคนหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมซึ่งต้องมีการปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ผลจากกระบวนการดังกล่าวจะทำให้มนุษย์เกิดพัฒนาการของเชาวน์ปัญญา จากความเชื่อดังกล่าว เพียเจท์จึงได้ศึกษาพัฒนาการด้านสติปัญญาของเด็กอย่างละเอียดด้วยการสร้างสถานการณ์เพื่อสังเกตพฤติกรรมของบุตรสาว 3 คนของเขาเป็นระยะเวลานาน และได้ทำบันทึกไว้อย่างต่อเนื่อง ทำให้ได้ข้อสรุปว่า
ธรรมชาติของมนุษย์มีพื้นฐานติดตัวตั้งแต่กำเนิด 2 ชนิด คือ
1. การจัดและรวบรวม (organization) เป็นการจัดและรวบรวมกระบวนการต่าง ๆ ภายใน ให้เป็นระบบระเบียบอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเพื่อให้เกิดภาวะสมดุลย์จากการมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม
2. การปรับตัว (adaptation) เป็นการปรับตัวเพื่อให้อยู่ในภาวะสมดุลย์กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งประกอบด้วยกระบวนการ 2 อย่างคือ
- การซึมซาบหรือดูดซึมประสบการณ์ (assimilation) หมายถึง การที่มนุษย์มีการซึมซาบหรือดูดซึมประสบการณ์ใหม่เข้าสู่โครงสร้างของสติปัญญา (cognitive structure) หลังจากมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม
- การปรับโครงสร้างทางเชาวน์ปัญญา (accomodation) หมายถึง การปรับเปลี่ยนโครงสร้างของเชาวน์ปัญญาที่มีอยู่แล้วให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ที่ได้เรียนรู้เพิ่มขึ้น
เพียเจท์กล่าวว่าการพัฒนาสติปัญญาและความคิดของมนุษย์จะต้องอาศัยทั้งการจัดรวบรวมและการปรับตัวดังกล่าว ซึ่งลักษณะพัฒนาการที่เกิดขึ้นจะดำเนินอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละบุคคล
โดยมีองค์ประกอบสำคัญที่เสริมพัฒนาการทางสติปัญญา 4 องค์ประกอบ คือ
1. วุฒิภาวะ (maturation) คือการเจริญเติบโตทางด้านสรีรวิทยามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาสติปัญญาและความคิด โดยเฉพาะเส้นประสาทและต่อมไร้ท่อ
2. ประสบการณ์ (experience) ประสบการณ์เป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการพัฒนาด้านสติปัญญา เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทุกครั้งที่บุคคลมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม ทั้งประสบการณ์ที่เกิดจากการมี ปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติและประสบการณ์เกี่ยวกับการคิดหาเหตุผลและทางคณิตศาสตร์ ซึ่งสามารถนำมาใช้แก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน
3. การถ่ายทอดความรู้ทางสังคม (social transmission) คือการที่บุคคลได้รับการถ่ายทอด ความรู้ด้านต่าง ๆ จากบุคคลรอบข้าง เช่น พ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู เป็นต้น
4. กระบวนการพัฒนาสมดุลย์ (equilibration) คือการควบคุมพฤติกรรมของตนเองซึ่งอยู่ในตัวของแต่ละบุคคลเพื่อปรับสมดุลย์ของพัฒนาการทางสติปัญญาและความคิดไปสู่ขั้นที่สูงกว่า
ขั้นพัฒนาการเชาว์ปัญญา
เพียเจท์ได้แบ่งขั้นพัฒนาการของเชาวน์ปัญญาออกเป็น 4 ขั้นคือ
1. ขั้นใช้ประสาทสัมผัสและกล้ามเนื้อ (sensorimotor period) อายุ 0- 2 ปี เป็นขั้นพัฒนาการทางความคิดและสติปัญญาก่อนระยะเวลาที่เด็กจะพูดเป็นภาษาได้ การแสดงถึงความคิดและสติปัญญาของเด็กวัยนี้จะเป็นในลักษณะของการกระทำหรือการแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหว เป็นลักษณะของปฏิกิริยาสะท้อน เช่น การดูด การมอง การไขว่คว้า มีพฤติกรรมน้อยมากที่แสดงออกถึงความเข้าใจ เพราะเด็กยังไม่สามารถแยกตนเองออกจากสิ่งแวดล้อมได้ ตัวตนของเด็กยังไม่ได้พัฒนาจนกว่าเด็กจะได้รับประสบการณ์ ทำให้ได้พัฒนาตัวตนขึ้นมาแล้ว เด็กจึงสามารถแยกแยะสิ่งต่าง ๆ ได้จนกระทั่งเด็กอายุประมาณ 18 เดือน จึงจะเริ่มแก้ปัญหาด้วยตนเองได้บ้าง และรับรู้เท่าที่สายตามองเห็น
2. ขั้นเริ่มมีความคิดความเข้าใจ (pre-operational period) อายุ 2-7 ปี เด็กวัยนี้เป็นวัยก่อนเข้าโรงเรียนและวัยอนุบาล ยังไม่สามารถใช้สติปัญญากระทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ ความคิดของเด็กวัยนี้ขึ้นอยู่กับการรับรู้เป็นส่วนใหญ่ ไม่สามารถใช้เหตุผล อย่างลึกซึ้งได้ วัยนี้เริ่มเรียนรู้การใช้ภาษา และสามารถใช้สัญลักษณ์ต่าง ๆ ได้ พัฒนาการวัยนี้แบ่งได้เป็น 2 ขั้นคือ
- ขั้นกำหนดความคิดไว้ล่วงหน้า (preconceptual thought) อายุ 2-4 ปี ระยะนี้เด็กจะมีพัฒนาด้านการใช้ภาษา รู้จักใช้คำสัมพันธ์กับสิ่งของ มีความคิดรวบยอดเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ ได้แต่ยังไม่สมบูรณ์ ไม่มีเหตุผล คิดเอาแต่ใจตัวเอง อยู่ในโลกแห่งจินตนาการ ชอบเล่นบทบาทสมมติตามจินตนาการของตนเอง
- ขั้นคิดเอาเอง (intuitive thought) อายุ 4-7 ปี ระยะนี้เด็กสามารถคิดอย่างมีเหตุผลขึ้น แต่การคิดยังเป็นลักษณะการรับรู้มากกว่าความเข้าใจ จะมีพัฒนาการรับรู้อย่างรวดเร็ว สามารถเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ได้เป็นหมวดหมู่ ทั้งที่มีลักษณะคล้ายคลึงและแตกต่างกัน ลักษณะพิเศษของวัยนี้คือ เชื่อตัวเองโดยไม่ยอมเปลี่ยนความคิด หรือเชื่อในเรื่องการทรงภาวะเดิมของวัตถุ (conservation) ซึ่งเพียเจท์เรียกว่า principle of invaiance
3. ขั้นใช้ความคิดอย่างมีเหตุผลเชิงรูปธรรม (concrete operational period ) อายุ 7-11 ปี ระยะนี้เด็กจะมีพัฒนาการทางความคิดและสติปัญญาอย่างรวดเร็ว สามารถคิดอย่างมีเหตุผล แบ่งแยกสิ่งแวดล้อมออกเป็นหมวดหมู่ ลำดับขั้น จัดเรียงขนาดสิ่งของ และเริ่มเข้าใจเรื่องการคงสภาพเดิม สามารถนำความรู้หรือประสบการณ์ในอดีตมาแก้ปัญหาเหตุการณ์ใหม่ ๆ ได้ มีการถ่ายโยงการเรียนรู้ (transfer of learning) แต่ปัญหาหรือเหตุการณ์นั้นจะต้องเกี่ยวข้องกับวัตถุหรือสิ่งที่เป็นรูปธรรม ส่วนปัญหาที่เป็นนามธรรมนั้นเด็กยังไม่สามารถแก้ได้
4. ขั้นใช้ความคิดอย่างมีเหตุผลเชิงนามธรรม (formal operational period) อายุ 11-15 ปี ขั้นนี้เป็นขั้นสูงสุดของพัฒนาการทางสติปัญญาและความคิด ความคิดแบบเด็ก ๆ จะสิ้นสุดลง จะเริ่มคิดแบบผู้ใหญ่ สามารถคิดแก้ปัญหาที่เป็นนามธรรมด้วยวิธีการหลากหลาย รู้จักคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ สามารถตั้งสมมติฐาน ทดลอง ใช้เหตุผล และทำงานที่ต้องใช้สติปัญญาอย่างสลับซับซ้อนได้ เพียเจท์กล่าวว่าเด็กวัยนี้เป็นวัยที่คิดเหนือไปกว่าสิ่งปัจจุบัน สนใจที่จะสร้างทฤษฎีเกี่ยวกับทุกสิ่งทุกอย่าง และมีความพอใจที่จะคิดพิจารณาเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่มีตัวตนหรือสิ่งที่เป็นนามธรรม นักจิตวิทยาเชื่อว่า การพัฒนาความเข้าใจจะพัฒนาไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งเข้าสู่วัยชรา
** เพียเจท์เชื่อว่าพัฒนาการของเชาวน์ปัญญามนุษย์จะดำเนินไปเป็นลำดับขั้น เปลี่ยนแปลงหรือข้ามขั้นไม่ได้
ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของ
เจอร์โรม บรูเนอร์ (Jerome Bruner)
แนวคิดที่สำคัญ ๆ ของบรูเนอร์ มีดังนี้
ทฤษฎีการเรียนรู้
1) การจัดโครงสร้างของความรู้ให้มีความสัมพันธ์ และสอดคล้องกับพัฒนาการทางสติปัญญาของเด็ก มีผลต่อการเรียนรู้ของเด็ก
2) การจัดหลักสูตรและการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับระดับความพร้อมของผู้เรียน และสอดคล้องกับพัฒนาการทางสติปัญญาของผู้เรียนจะช่วยให้การเรียนรู้เกิดประสิทธิภาพ
3) การคิดแบบหยั่งรู้ (intuition) เป็นการคิดหาเหตุผลอย่างอิสระที่สามารถช่วยพัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ได้
4) แรงจูงใจภายในเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ผู้เรียนประสบผลสำเร็จในการเรียนรู้
5) ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาของมนุษย์แบ่งได้เป็น 3 ขั้นใหญ่ ๆ คือ
- ขั้นการเรียนรู้จากการกระทำ (Enactive Stage) คือ ขั้นของการเรียนรู้จากการใช้ประสาทสัมผัสรับรู้สิ่งต่าง ๆ การลงมือกระทำช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ดี การเรียนรู้เกิดจากการกระทำ
- ขั้นการเรียนรู้จากความคิด (Iconic Stage) เป็นขั้นที่เด็กสามารถสร้างมโนภาพในใจได้ และสามารถเรียนรู้จากภาพแทนของจริงได้
- ขั้นการเรียนรู้สัญลักษณ์และนามธรรม (Symbolic Stage) เป็นขั้นการเรียนรู้สิ่งที่ซับซ้อนและเป็นนามธรรมได้
6) การเรียนรู้เกิดขึ้นได้จากการที่คนเราสามารถสร้างความคิดรวบยอด หรือสามารถจัดประเภทของสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม
7) การเรียนรู้ที่ได้ผลดีที่สุด คือ การให้ผู้เรียนค้นพบการเรียนรู้ด้วยตนเอง (discovery learning)